วันอังคารที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2550

เสียงน้ำและความเงียบงัน ๒๕

พิธีบวงสรวง

ยามเช้าถือกำเนิดที่ริมขอบฟ้า เอิบอาบแผ่นดินโลกให้อบอุ่น สดกระจ่างด้วยแสงแดดร้อนแรง

เครื่องเซ่นไหว้บวงสรวงตระเตรียมไว้พร้อมเสร็จสรรพ ทั้งดอกไม้ธูปเทียน น้ำส้มป่อย ไก่ หัวหมู อาหารคาวหวาน และเหล้าพื้นเมือง

ชาวบ้านช่วยกันถือเครื่องบวงสรวงจากศาลาท่าเรือวัดหลวง เดินลงเนินขึ้นไปยังผาถ่าน ศาลเจ้าพ่อตั้งเด่นสง่าสะท้อนประกายแดด ผาถ่านเต็มไปด้วยตะปุ่มตะป่ำของหินสีดำ มองดูราวกับภูเขาถ่านขนาดใหญ่ ชาวบ้านจัดวางเครื่องบวงสรวง พิธีกรรมเริ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านต่างจุดธูปขอพรให้เจ้าพ่อปกปักรักษาแม่น้ำโขง

วงสะล้อขับกล่อมบรรเลงบทเพลงล้านนาเพิ่มเติมสีสัน ในขณะที่เรื่องเก่าเล่าขานถูกเผยผ่านริมฝีปากจากที่นั่นที่นี่ บางว่าปู่ละหึ่งผู้เป็นบรรพบุรุษของผู้คนริมฝั่งแม่น้ำ ได้คอนถ่านใส่กระบุงไปขายทางทิศเหนือ เนื่องจากถ่านหนักมากจึงทำให้ไม้คานหัก ถ่านตกเกลื่อนกระจายริมฝั่งน้ำจนเกิดเป็นเกาะแก่งหินผามากมายในแม่น้ำ และผาถ่านโขดนี้เป็นถ่านก้อนหนึ่งที่ปู่ละหึ่งได้ทำตกไว้

บางคนได้เล่าว่า ใต้ผาถ่านแห่งนี้มีถ้ำของพญานาคอยู่ ครั้งหนึ่งมีประกวดนางนพมาศ มีการแห่นางงามทางเรือผ่านผาถ่าน เรือเกิดล่ม นางงามคนหนึ่งจมหายไป จากนั้นมีชาวบ้านมาพบนางงามคนนี้ในวังน้ำบริเวณผาถ่าน ทุกคนเชื่อว่าพญานาคได้ช่วยนางไว้

อีกบางคนเล่าว่า สมัยก่อนนั้น บริเวณแถบนี้เคยเป็นแดนประหารนักโทษของเมืองโบราณ

ทุกเรื่องราวถูกกล่าวขานถ่ายทอดจากคนรุ่นหนึ่ง สู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ตราบที่ผู้คนยังเชื่อและศรัทธาในสิ่งที่ยัง ฝังลึกในหัวใจของทุกคน เรื่องเล่าจะยังคงอยู่เช่นเดียวกับความเชื่อและศรัทธา.

ไม่มีความคิดเห็น: