วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เสียงน้ำและความเงียบงัน ๓๐

เรื่องของปลาใหญ่

เสียงหัวเราะของเด็กๆ ดังขึ้นอีกครั้งริมฝั่งน้ำ ในยามบ่ายที่สายลมโชยพลิ้ว ความตื่นเต้นปรากฏขึ้นบนใบหน้าของผู้คน ดวงตาเปล่งประกายสดใสใคร่รู้ คืนความมีชีวิตชีวาแก่ผู้คนริมฝั่งโขงอีกครั้ง

“ปลาบึกกลับมาแล้ว ปลาบึกกลับมาอีกแล้ว” ในยามบ่ายอันเงียบสงบ เสียงร้องตะโกนดังขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าราวคลื่นน้ำ จากท่าน้ำวัดหาดไคร้ ข่าวการกลับมาของปลาใหญ่แพร่กระจายไปทั่วทั้งเมืองอย่างรวดเร็ว

“พวกเขาจับปลาบึกได้สองตัวแล้ว” เสียงบอกเล่า ปากต่อปาก ชาวเมืองชักชวนกันไปดูปลาใหญ่ นักท่องเที่ยวที่เผอิญพักอยู่ในเชียงของ ทั้งคนไทยและเทศต่างพากันมายังท่าน้ำ ชื่นชมปลาใหญ่ที่ถูกผูกมัดเอาไว้

“ปลาบึกกำลังจะตาย” เสียงเด็กคนหนึ่งเอ่ยขึ้น หลายคนพูดถึงปลาใหญ่ด้วยความสงสาร นักข่าวหลายคนพยายามเก็บภาพบรรยากาศริมฝั่ง ผู้คนทยอยกันมามากมาย ต่างพูดคุยและวิพากษ์วิจารณ์ด้วยรอยยิ้ม

“หลายวันก่อนเห็นนกนางนวลสามสี่ตัวบินผ่านมา” ใครคนหนึ่งออกความเห็น

“ปลาบึกสองตัวนี้ เป็นตัวผู้ ตัวเมียจะขึ้นตามมาทีหลัง” อีกคนหนึ่งพูดอย่างผู้รู้

“สามปีเต็มทีเดียว” ผู้เฒ่าคนหนึ่งพูดอย่างดีใจ

บ่ายวันนี้ เรื่องราวของปลาใหญ่แพร่สะพัดจากเมืองเล็กๆ ริมฝั่งน้ำ เข้าไปยังเมืองใหญ่ ผู้คนต่างพูดถึงปลาใหญ่ด้วยรอยยิ้ม.

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เสียงน้ำและความเงียบงัน ๒๙

นิ้วมือ

แสงเรืองรองของดวงตะวันริมขอบฟ้า ส่องสะท้อนบนแผ่นน้ำเอื่อยไหล ผ่านโขดหิน หาดดอน ต้นไม้ ต้นหญ้า ดอกไม้

มือน้อยๆ มือหนึ่ง เด็กน้อยๆ คนหนึ่ง นับนิ้วมืออย่างสงสัย

“นิ้วก้อย นิ้วนาง นิ้วกลาง นิ้วชี้ นิ้วโป้ง เอ…แล้วทำไมนิ้วมือเราถึงต้องมีชื่อด้วยนะ”

ตำนานเรื่องเล่าของแม่น้ำโขง ยังถูกเล่าขานต่อกันมาตั้งแต่คนรุ่นปู่ย่าตาทวด หินแต่ละโขด ผาแต่ละผามีชื่อเรียก ผาหินบางแห่งมีตำนาน แก่งหินบางแห่งมีเรื่องเล่า มีความเชื่อ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สิงสถิตย์ เรื่องราวความเชื่อเหล่านี้ยังถูกเล่าขานต่อกันมา

นิ้วมือแต่ละนิ้ว มีชื่อเรียกที่แตกต่าง เช่นเดียวกับแก่งหินผาในแม่น้ำโขง เราบอกไม่ได้หรอกว่า นิ้วมือและหินผาไม่มีความสำคัญ เพราะหากไร้ซึ่งความสำคัญแล้ว เหตุใดสิ่งต่างๆ จึงมีชื่อให้เรียกขาน มีเรื่องเล่า มีความหมาย

“นิ้วก้อย นิ้วนาง นิ้วกลาง นิ้วชี้ เอ… ถ้านิ้วโป้งหายไปจะเป็นยังไงนะ”

หากทว่า เมื่อเราตื่นนอนขึ้นมาแล้วพบว่า นิ้วมือหายไปสักนิ้วหนึ่ง เราจะรู้สึกอย่างไร และหากทว่า เมื่อผู้คนลุ่มน้ำโขงตื่นเช้าขึ้นมาแล้วพบว่า เกาะแก่งหายไปสักแห่งหนึ่ง พวกเขาจะรู้สึกอย่างไร? คงมิแตกต่างกัน

เรื่องเล่าถึงแม่น้ำโขงจะเป็นอย่างไร หากเกะแก่งหินผาถูกทำให้หายไป ถึงวันนั้น ผู้เฒ่าผู้แก่คนใดจะกล้าเอ่ยเล่าให้ลูกหลานฟัง ถึงหินผากลางลำน้ำ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีเรื่องราว ตำนานและความเชื่อมากมายสิงสถิตย์อยู่

ใครจะกล้าหาญเอ่ยเล่าถึงสิ่งที่ไม่มีอีกแล้ว.

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

เสียงน้ำและความเงียบงัน ๒๘

นิทานริมฝั่งโขง

ผู้คนทยอยกันมาหนาแน่นเช่นเดียวกับความมืดแห่งค่ำคืน เฝ้ารอฟังนิทานริมฝั่งโขง รอบข้างเต็มไปด้วยความเงียบสงัด เสียงจิ้งหรีดและกบเขียดระงมท้องทุ่ง หญิงชราหิ้วตะเกียงและกล่องใบใหญ่ขึ้นวางบนเรือ ก่อนจ้วงพายออกไปในค่ำคืนอันไม่สิ้นสุด ล่องมาตามแม่น้ำโขง

เสียงของเมือง เสียงของรถยนต์จากเมืองหนึ่งสู่เมืองหนึ่ง สู่ท้องถิ่นชนบท สู่เมืองริมแม่น้ำโขง ต้นไม้ใหญ่ แม่น้ำเริงเล่นหยอกล้อในเกลียวคลื่น หมู่ปลาว่ายแหวก คนหาปลา วิถีชีวิตอันเรียบง่าย ค่ำคืนมาเยือนอย่างรวดเร็ว ลูกไฟสีแดงของพญานาคผุดลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าราวกับไม่หมดสิ้น

มนุษย์ผู้ชายกับมนุษย์ผู้หญิง พญานาคกับพญาครุฑ หญิงชรากับเรื่องเล่า แสงและเงา การต่อสู้อันไม่จบสิ้น เริงเล่นอยู่บนฉากผ้าสีขาวขนาดใหญ่ เสียงแห่งการต่อสู้ดังสนั่นหวั่นไหว เสียงโอดครวญเจ็บปวด เสียงอ้อนวอนร้องขอในความเงียบงัน เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน เสียงที่ไม่มีใครได้ยิน

การเดินทางเริ่มขึ้นอีกครั้ง จากเมืองริมฝั่งแม่น้ำโขง มุ่งสู่ถิ่นชนบท หายเข้าไปในเมืองใหญ่ เช่นเดียวกับผู้คนทั้งหลายถูกกลืนหายเข้าไปในเมืองใหญ่ การต่อสู้อันไม่จบสิ้นระหว่างมนุษย์ผู้ชายกับมนุษย์ผู้หญิง พญานาคกับพญาครุฑ หญิงชรากับเรื่องเล่าที่กำลังเลือนหาย แสงและเงาท่ามกลางเสียงครวญครางอันเจ็บปวด การต่อสู้ยังดำเนินไปไม่จบสิ้น ท่ามกลางความเงียบงัน ท่ามกลางความมืดอันไพศาล.