วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2550

แม่น้ำไร้นาม




แม่น้ำไร้นาม
โดย จันทิรา พรประเสริฐ

นานมาแล้ว นับจากหยดน้ำกลั่นกรายจากรากไม้อันชุ่มชื่น กลับกลายเป็นสายห้วยธาราหล่อเลี้ยงความชุ่มชื้นให้แก่ผืนแผ่นดินและลำเนาไพร ไหลเข้าหลอมรวมกับแม่น้ำสายใหญ่ หล่อเลี้ยงผองสัตว์และผู้คนที่อาศัยพักกินดื่มดำรงเผ่าพันธุ์อยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำ จนก่อเกิดเป็นวิถีวัฒนธรรมอันเจริญรุ่งเรือง ก่อนหลากไหลลงสู่ท้องทุ่งทะเลอันแผ่กว้างไพศาล
ครั้นมองย้อนกลับไปในอดีต เราจึงไม่แปลกใจว่า เหตุใดอารยธรรมแต่โบราณอันหลายหลากจึงล่มสลายหายสูญไปจากโลก สงครามการสู้รบระหว่างเผ่าพันธุ์ การต่อสู้ปกป้องของชนเผ่ากับรัฐชาติผู้บุกรุกรายใหม่ด้วยยุทธนูปกรที่ก้าวล้ำ จนเผ่าพันธุ์ดั้งเดิมถูกกลบกลืนเขมือบเคี้ยวจนสิ้น เมื่อวิวัฒนาการของมนุษย์ก้าวล้ำมากขึ้น เผ่าพันธุ์ที่ไม่อาจปรับตัวเข้ากับยุคสมัยใหม่ย่อมเสื่อมสลายลงตามกาลเวลา
และการสูญสลายของหยาดน้ำเพียงหนึ่งหยด ก็นำมาสู่การล่มสลายของอารยธรรมได้เช่นเดียวกัน ด้วยชีวิตมักแตกสลายหากขาดความชุ่มเย็นเพียงแค่หนึ่งหยดน้ำ

นานมาแล้ว แม่น้ำสายนี้ถือกำเนิดขึ้นจากหยดน้ำที่กลั่นกรายจากรากไม้ คอยชุบซับและหล่อเลี้ยงผืนป่าต้นน้ำทั้ง ๑๒ แห่ง กลายเป็นสายห้วยธารา ๑๒ สาย ไหลไปหล่อเลี้ยงชุมชนก่อนไหลลงสู่กว๊านพะเยา จากกว๊านแม่น้ำยังคงคดเคี้ยวเชี่ยวไหลขึ้นเหนือผ่านแผ่นดินชุ่มชื้นและผืนป่าชุ่มน้ำ ไหลเข้าหลอมรวมกับแม่น้ำโขงอันฉ่ำเย็นจากธารหิมาลัย ที่บ้านปากอิง อำเภอเชียงของ ก่อนหลากไหลผ่านสี่แผ่นดินหลอมลงสู่ทะเลจีนใต้ของประเทศเวียดนาม
แม่น้ำยังคงไหลอยู่เช่นนั้น ไหลไปหล่อเลี้ยงมวลชีวิตบนผืนแผ่นดิน ไหลไปเป็นอาหารและที่พักพิงอิงแอบ ไหลไปก่อเกิดวิถีและวัฒนธรรมอันรุ่งเรืองสถาพร แม้ในวันนี้ แม่น้ำยังคงหลากไหลไปเอื้อแก่มวลชีวิต แม่น้ำยังคงให้ และไม่เคยเรียกร้องขอรับคืน
ภาพทุกภาพยังคงติดอยู่ในความทรงจำ ตั้งแต่ป่าต้นน้ำแห่งห้วยขุนต๊ำอันเป็นต้นธารสายนี้ น้ำแต่ละหยดที่ซึมซับอยู่ตามรากไม้ ค่อยๆ ก่อเกิดเป็นลำห้วยแม่ต๊ำ ไหลไปหล่อเลี้ยงชีวิตมากมาย พืช สัตว์ และแมลง พิงพักอาศัยหากินอยู่บนผืนดินชุ่มชื่นตลอดเวลา ราวกับสรรพชีวิตต่างเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับชาวบ้านต๊ำใน ผู้คอยดูแลปกปักรักษาผืนป่าต้นน้ำเอาไว้
ภาพทุกภาพยังคงยังคงติดในความทรงจำ ตลอดความยาวของสายน้ำที่ไหลไปเอื้อเฟื้อต่อมวลสัตว์และผู้คน พวกเขาหากินอิงแอบอยู่กับแม่น้ำและพื้นที่ป่าชุ่มน้ำ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ดูแลรักษาแม่น้ำและป่าด้วยวิถีแห่งความเชื่อและการปลูกฝั่งจิตสำนึกในการพิทักษ์รักษา หลายชุมชนร่วมกันทำพิธีสืบชะตาแม่น้ำ สืบชะตาป่า ให้ข้อมูลความรู้แก่เยาวชนถึงคุณค่าประโยชน์ของป่าและน้ำ ทำให้มองเห็นถึงการอุดหนุนเกื้อกูลซึ่งกันและกันของทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ป่า สัตว์ หรือมนุษย์

เนิ่นนานจนถึงปัจจุบัน แม่น้ำนี้มีชื่อเรียกเฉกเช่นแม่น้ำทุกสายในโลก และอาจไร้ชื่อเรียกขานได้เฉกเช่นแม่น้ำสายโบราณที่เหือดแห้งสูญหายไปนับไม่ถ้วน มิเพียงแต่แม่น้ำเท่านั้นที่สูญหาย กระทั่งว่าชุมชนอันรุ่งเรืองย่อมเสื่อมสลายด้วยเช่นกันหากไร้ซึ่งสายน้ำ หากเราไม่ช่วยกันดูแลรักษา หากเรามองไม่เห็นความอาทรเอื้อเกื้อกูลซึ่งกันและกัน หากเรายังคงเอาแต่เรียกร้องขอรับโดยไม่เคยหยิบยื่นให้
และเมื่อนั้น อารยธรรมอันรุ่งเรืองก็คงเสื่อมสลาย เมืองก็คงจะไร้ชื่อไร้นาม เฉกเช่นสายน้ำ
แม่น้ำสายนี้คงไม่ต่างจากแม่น้ำทุกสายในโลก อิงแอบแนบสนิทกับมวลชีวิต เฉกเช่นชีวิตอิงแอบแนบสนิทกับแม่น้ำ “แม่น้ำอิง”
ชื่อของแม่น้ำสายนี้อาจไร้ซึ่งความหมาย หากเราปล่อยให้น้ำหยดสุดท้ายเหือดแห้งระเหยหาย.

พิมพ์ครั้งแรก แม่โขงโพส์ต ฉบับ 5 อ้อมอกอิง 2550

2 ความคิดเห็น:

nagabook กล่าวว่า...

จิ๋ว :>
เราจะนำบล็อกนี้ขึ้นเว็บ www.mekonglover.com
เพื่อจะได้สื่อสารกับคนอ่าน Mekong Post อีกทางหนึ่ง.
นพ:>>

nagabook กล่าวว่า...

แล้วฝากบล๊อกนี้ด้วยแล้วกัน
http://naga-bookcoffee.blogspot.com/
ขอบใจเด้อ
นพ:>>